วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

ดอนปู่ตา

เช้าของวันอันสดใส แสงแดดอ่อนๆ ปกคลุมพื้นหญ้าเขียวขจีโดยทั่ว หน้าอาคารเรือนไทยบ้านมัธยม
_ช่างเป็นเช้าที่สดชื่นเหลือเกินและสวยงามเสียเหลือเกินในความรู้สึกของครูคนหนึ่ง ในค่ำคืนนั้นก่อนบรรยากาศอันสดชื่นนี้จะปรากฏให้เห็นฝนได้ตกกระหน่ำตลอดทั้งคืน ทำให้ผมนอนฟังเสียงฝนด้วยความอิ่มเอมใจ มองเห็นถึงความชุ่มฉ่ำของพื้นดินกันต้นหญ้าโดยทั่วที่จะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น คิดถึงต้นไม่ใบหญ้าที่จะรายรำตัวเองกลางสายฝน
_ทุกๆ เช้าก่อนจะเริ่มเรียนวิชาแรกของแต่ละวัน เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมจิตศึกษาร่วมกับคุณครู เราจะใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันราว 20 นาที
กิจกรรมจะดำเนินไปด้วยความเรียบงาย สงบ ครูจะคอยอำนวยกิจกรรมสอดแทรกแง่คิดและเสริมปัญญาภายในให้กับเด็กๆ ด้วยคำถาม จิตศึกษายังได้ช่วยบ่มเพาะตัวของครู ในทุกๆ วันที่กิจกรรมเสร็จครูเองก็ได้เตรียมสภาพจิตใจ(ปัญญาภายใน) ได้ใคร่ครวญตัวเองในภวังค์ของความคิดที่ใช้สติกำกับทุกๆ คำพูดที่จะสอนศิษย์ ใช้ความเมตตาต่อลูกศิษย์เป็นตัวกำหนดวุฒิภาวะของครู


:: : ::
ขณะที่ผมเรียนอยู่มัธยมตอนต้น ผมมีโอกาสได้เดินชมป่ากับคุณครู โรงเรียนของผมอยู่ที่ชนบทและรายรอบโรงเรียนฯ เต็มไปด้วยผืนป่าใหญ่เขียนขจี ป่านั้นเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนอีกด้วย และที่สำคัญป่านั้นมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่าดอนปู่ตา
ผมได้ฟังเรื่องราวต่างๆ หลากหลายนิทานและตำนานพิลึกกึกกือที่เล่าถึงดอนปู่ตาแห่งนี้ได้ถูกถ่ายทอดจากปากของผู้เฒ่าสู่ลูกหลานหลายชั้นหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านทุกคนจะละเว้นสัตว์ทุกตัวที่อาศัยอยู่บริเวณป่าแห่งนี้และต้นไม้ทุกต้นจะไม่เคยถูกตัดออกจากป่าเลย ผมเคยเข้าไปศาลปู่ตาดูครั้งหนึ่ง ผมมองลึกเข้าไปในทางเดินก่อนจะถึงศาลดอนปู่ตา ศาลเจ้าและซากเหลือของพวงมาลัยเครื่องบูชาตลอดจนริ้วรอยของผ้า ผ้าแพรเก่าใหม่หนาชั้นที่รัดรึงอยู่บริเวณโคนเสาเอกของศาลปู่ตา ดูประการหนึ่งดั่งกำแพงศักดิ์ที่คอยกั้นกางอาการลบหลู่ดูหมิ่นมิให้ย่างกรายเข้าไปถึง ไม่เคยมีใครสักคนถามว่าทำไมต้องมีสิ่งเหล่านี้ประดับอยู่รายรอบที่ศาลปู่ตา ไม่มีคำสอนใดๆ จากปากของผู้เฒ่าให้กระทำสิ่งประหนึ่งความชั่วร้ายนี้ มีก็เพียงแต่คำสอนให้เชื่อถือและปฏิบัติตามประการเดียวเท่านั้น – เป็นคำเล่าขาน และผมนึกได้จากคำสอนเมื่อสักราว 15 ปีก่อน
โอกาสที่ครูได้สอนเราในห้วงเวลาที่เหมาะเจาะและเต็มไปด้วยบรรยากาศที่เอื้ออำนวยในวันนั้น ผมเดินป่าได้สนุกมากและเพื่อนๆ ทุกคนรื่นรมย์ ผมโชคดีมากที่ได้เรียนกับคุณครูที่ท่านเป็นนักเล่าเรื่องตัวยง ดังกับนักเล่าการ์ตูนที่ทำให้เด็กๆ นั่งติดอยู่หน้าจอโทรทัศน์อย่างงอมแงม ทำเอาผมและเพื่อนๆ ถือปฏิบัติต่อคำสอนนั้นตราบจนทุกวันนี้ ก็ไม่เคยมีใครคิดจะไปค้นหาคำตอบจากดอนปู่ตาแห่งนั้น
ประสบการเดิมของผมกับดอนปู่ตาแห่งนี้ มีมากมายหลายเรื่องที่นำมาเล่าสอนลูกศิษย์ ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ครูป้อนให้

วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เปิดวงวิจารย์กันและกัน..น้อมยินดีรับ..จะนำไปปรับปรุงตนเอง

  หนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการผู้เรียน เพื่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดียิ่งขึ้นไป

เช้าวันศุกร์ครูณีพาเด็กๆ ทำกิจกรรมตั้งวงพูดคุยสนทนาเกี่ยวกับเรื่องของเพื่อนๆ แต่ละคน ในห้องเรียนของเราที่อยู่ด้วยกันมากว่า 8 ปี

ประเด็นที่พูดกันในวง
  • "เราเห็นอะไรในตัวเพื่อนเราที่จะวิจารณ์ สิ่งที่เพื่อนคนนี้ทำได้ดีแล้ว สิ่งที่เห็นเพื่อนว่าอยากเสนอแนะให้ปรับปรุงในเรื่องใด / ทำไมถึงอยากให้ปรับปรุง?" และครูณีก็จพค่อยกระตุ้นด้วยคำถาม เพื่อให้ความอิ่มเอมในกิจกรรม สร้างความรื่นรมย์เพื่อให้บรรยากาศไม่ตึงเครียดจนเกินไป 
  • พอทุกคนได้วิจารย์เพื่อนคนนั้นเสร็จลง ครูก็จะย้อนถามเพื่อนคนที่ถูกวิจารย์ว่า "เรารู้สึกยังไง อยากที่จะชี้แจ้งอะไร? / เห็นต่างจากคำวิจารย์เพื่อนอย่างไร?"

     กิจกรรมสัมพันธ์นี้ จบลงในเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง วันนั้นวิจารย์กันได้เพียง 4 คนเท่านั้น ทุกคนที่ถูกวิจ่ารย์ก็เห็นถึงเหตุผลที่เพื่อนๆ ชี้แจ้งว่าทำไมเขาถึงเป็นในสิ่งที่เพื่อนๆ อยากให้เขาปรับปรุง

ผมสังเกตเห็นหลายๆ คนได้เปิดใจที่จะพูดในสิ่งที่ตนเองอยากบอกกับเพื่อนหลายๆ คน ที่มีโอกาสโดยครูเป็นผู้เชื่อมเหตุการณ์

ทุกๆ สิ่งที่สะท้อนออกมาจากความรู้สึก ผมนั่งฟังดูแล้ว..
ทั้งผู้รับสาร > ผู้ส่งสาร : ต่างบอกกันออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ใช้อารมณ์มาพูดใส่กัน เป็นเพียงสิ่งที่ตนเองอยากให้เพื่อนๆ พัฒนากันและกัน

วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อาหารไก่ของผม







ช่วงเที่ยงวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ขณะที่ครูณีเดินกลับบ้าน.1 ก็เจอกับพี่ๆม.2 คือพี่ฟิวส์ พี่ฟลุ๊คและพี่กระถิน ทั้ง3คนกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บผักที่อยู่ข้างบ้านม.1

ครูณี : พี่ๆทำอะไรกันคะ?

พี่ฟิวส์ : เก็บผักไปให้ไก่ครับ อาหารไก่ของพวกผมหมดแล้ว.

ครูณี : แล้วพี่ๆ เก็บผักอะไรกันค่ะ ?

พี่ฟลุ๊ค: ผักตำลึง และอ่อมแซ่บครับ น้าตู่บอกว่า ผักพวกนี้ไก่ก็กินเหมือนกัน

ครูณี : แล้วผักกระเฉดน้ำหล่ะคะ ได้ไปเก็บให้ไก่กินหรือเปล่า ?

พี่ฟิวส์ : ก็ยังเก็บอยู่ครับ แต่พวกผมก็หาเก็บผักเพิ่มเติมให้มันอีก สงสารไก่ครับครู.

ครูณี : (คิดในใจ) ครูก็สงสารพวกพี่เหมือนกัน แต่รู้สึกชื่นใจมากกว่าค่ะ

วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เด็กหญิง..ตัวเล็กๆ...

วันนี้ผมสังเกตแต่เช้าแล้วว่าเห็นเด็กๆ นักเรียนคนหนึ่งตั้งใจเรียนมาก ขยัน รับผิดชอบ มีจิตอาสา มีความมุ่งมั่น อดทน
ดูๆ ก็ต่างจากทุกวันตลอดการเรียนรู้ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา - เขาคือ พี่เดียร์ 

และวันนี้พี่เดียร์รับอาสาเป็น monitor ช่วยคุณครูดูแลเพื่อนๆ ด้วยความตั้งใจ..

ผมมารู้ความลับนั้นตอนบ่ายๆ ช่วงที่ช่วยคุณครูเตรียมโปรเจคเตอร์ ผมถามพี่เดียร์ว่า "วันนี้..ทำไมดูตั้งใจเต็มที่เป็น monitor และไม่กลัวครูหรือเพื่อนๆ ว่าหรือครับ?"  พี่เดียบอกว่า "หนูตั้งใจมาจากบ้านแล้วค่ะ ว่าจะมาเป็นmonitor ดูแลเพื่อนๆ ช่วยคุณครูค่ะ.."

บางอย่างการกระทำ สือถึงพัฒนาการทางความคิดของเด็กๆ แต่ละคน แตกต่างกัน การที่เด็กคนหนึ่งงอกงามไปในทางที่ดี เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในหน้าที่ที่ได้รับมอบอย่างเต้มที่และบริสุทธิ์ใจ >> มันสื่อถึงการลดตัวตน เพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม อาจจะโดนต่อว่าในบางเรื่อง แต่หากเตรียมใจยอมรับมันมาดีพร้อมแล้ว ก็ย่อยจะได้รัับความสุขๆ จากทุกการกระทำที่เรามุ่งมั่น..

หลายคนแปลกที่จะแสวงหาความสุข
- ฉันต้องการความสุข 
- มีความสุขแล้ว ยังตอบโจทย์ชีวิตยังไม่ดีพอ ก็ต้องแสวงหาความสุขที่เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ..

การจัดการกับความสุข เป็นศาสตร์เชิงลึกยิ่ง ที่แต่ละคนจะค้นพบศาสตร์นั้นเร็วหรือช้า แตกต่างกันออกไป.

วันนี้เป็นส่วนเล็กๆ ของชีวิตลูกศิษย์คนนี้ ที่มีความตั้งใจจะทำสิ่งใดแล้วด้วยความเต็มที่และบริสุทธ์ใจ ไม่ว่าผลจะออกอย่างไร(ตำหนิจากผู้อื่น) เขาเต้มใจที่จะกล้าเปิดใจเข้าไปเรียนรู้กับความรับผิดชอบนั้นที่มันจะท้าทายเขาในตลอด 1 วัน
เมื่อสิ่งนั้นผ่านมาได้ด้วยความตั้งใจของเราแล้ว ความสุขจากรอบๆ ข้างจะโปรยปรายเข้ามาหาเราอย่างปลื้มปีติสุขยิ่งนัก ชื่นชมทุกๆ ความตั้งใจของศิษย์ทุกๆ คนครับ


วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เส้นทางสายครู


เส้นทางสายครู

                 ในชีวิตผมไม่เคยอยากเป็นครูเลย เพราะถ้าผมอยากเป็นครูผมก็คงเรียนสายครูแล้ว ผมคิดอย่างนั้น  แต่ผมเป็นคนที่รัก และศรัทธาในอาชีพครูมาก ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้ผมมาเป็นครูก็ได้ใครจะไปรู้ ความประทับใจเมื่อครั้งเป็นครูใหม่ๆที่ความรู้สึกนั้นยังชัดเจนในใจผมเสมอมา คือผมได้เจอครูที่ดี เห็นความตั้งใจของคุณครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาที่ช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามให้กับเด็ก เห็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่หลากหลาย เด็กๆเรียนรู้อย่างมีความสุข ชั้นแรกที่ผมได้มาอยู่คือ ป.5 เป็นห้องที่ท้าทายพอสมควรสำหรับครูใหม่อย่างผม เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นทำให้แต่ละคนมีความเป็นตัวเองสูงมาก  การเข้าถึงพวกเขาจึงเป็นเรื่องยากสำหรับครูใหม่อย่างผมก่อนอื่นผมจำชื่อพวกเขาให้ได้ทุกคนก่อน  ส่วนผู้ชายผมพยายามหาเรื่องที่ทุกคนสนใจร่วมกันเช่น กีฬา เพื่อทำให้ทุกคนมีปฏิสัมพันธ์ต่อเพื่อนและครู สำหรับลูกศิษย์รุ่นแรกทำให้ผมได้เรียนรู้อย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเรียนการสอน การเก็บเด็ก เทคนิคต่างๆท่าทีความเป็นครูและอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้เรายังมีครูรุ่นพี่ที่คอยให้คำแนะนำทุกอย่างซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับผม มีกิจกรรมมากมายที่เกิดขึ้นผมของยกกิจกรรมหนึ่งที่พึ่งผ่านไปไม่นานมาเล่าให้ฟัง นั่นก็คือ กิจกรรมเดินทางไกล
                กิจกรรมเดินทางไกลเป็นกิจกรรมที่ท้าทายเด็ก  ครู และผู้ปกครองมากสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับลูกๆ เด็กๆทุกคนตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าจะได้เดินทางไกล อยากรู้ว่าระยะทางที่ตนเองเดิน และไปเส้นทางไหน เห็นความตั้งใจของพี่ม.3ที่ช่วยกันวางแผนออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละฐานการเรียนรู้ได้แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน ผมได้อยู่กับฐานทักษะชีวิตกลุ่มไหนที่มาฐานนี้จะต้องหาอาหารเพื่อนำกลับไปเป็นอาหารเย็น ทุกกลุ่มที่มาต่างก็สนุกสนานสังเกตพี่ม.3 ทุกคนดูแลน้องๆในกลุ่มตัวเองเป็นอย่างดี   ทุกคนในกลุ่มต่างช่วยกันหาปู ปลา หอย ในเวลาที่จำกัดซึ่งทุกกลุ่มก็สามารถผ่านฐานทักษะชีวิตไปได้ด้วยอาหารเต็มไม้เต็มมือกลับไป หลังจากที่แต่ละกลุ่มกลับมาถึงโรงเรียนก็เก็บอุปกรณ์ แบ่งหน้าที่กัน เช่น ทำอาหาร เตรียมเครื่องเทศ  หาฟืนก่อไฟ ผมและครูคนอื่นก็ยืนดูห่างๆ

ในฐานนี้พี่ๆจะมีบทบาทมากที่สุด  เป็นผู้นำน้องๆในการหาเสบียงอาหาร  น้องเชื่อฟังพี่และได้เห็นมุมอีกมุมหนึ่งระหว่างพี่กับน้องที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทีม มีการวางแผนภายในกลุ่มทำให้ภารกิจสำเร็จด้วยดี

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เกม 24 และ 180 IQ

ก่อนเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ทุกๆ ชั่วโมงประมาณ 5-10 นาที ผมจะมีโจทย์ให้เด็กๆ แต่ละคนได้คิดก่อนเตรียมความพร้อมที่จะเรียนในเนื้อหานั้นๆ 

เช่น
*วิธีการเล่นเกม 24  : ผมจะกำหนดตัวเลขมาให้ 4 ตัว ให้เด็กๆ ใช้  บวก (+)  ลบ (−)  คูณ (×)  หาร (÷)  มาดำเนินการเพื่อที่จะหาคำตอบ โดยเลข 1 ตัว ใช้ได้เพียง 1 ใช้ได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น

2  8  7  4  

9  6  3  1

5  8  5  3

พอครูตั้งโจทย์ให้เสร็จแล้ว โจทย์ทุกข้อจะมีคำตอบ คือ 24  
เด็กๆ ทุกคนชอบกิจกรรมนี้มาก ทุกคนต่างมีสิทธิ์ได้ตอบ โดยการยกมือ คนที่ยกมือคนแรกจะได้อธิบายก่อน ครูก็จะช่วยจัดระบบข้อมูลให้เด็กๆ พร้อมกับค่อยตั้งคำถามกระตุ้นการคิดอย่างสม่ำเสมอ "ใครมีวิธีคิดที่แตกต่างจากนี้บ้างครัับ"
เด็กๆ ที่คิดเลขเร็ว คิดเลขได้ช้า ต่างก็มีสิทธิ์ในการอธิบายเท่ากัน
 หลายคนต่างกระตุ้นตัวเอง ผลักตัวเองขึ้นมาเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อที่จะหาวิธีคิดจากคำตอบ ทุกๆ คนได้จดจ่ออยู่กับการคิดนั้นจริงๆ 

** วิธีการเล่นเกม 180 IQ : จะเพิ่มเครื่องหมาย ยกกำลัง กับ รากที่ 2 เข้ามาเพิ่มในการคิดตัวเลขที่มีค่าเยอะๆ  เกมนี้จพท้าทายกว่าเกม 24 มากขึ้นครับ  กติกาเช่นเดียวกับเกม 24

3  9  5  6  2  =  57

5  6  9  3  6  =  31

7  2  6  4  1  =  53

มันเป็นเรื่องที่ผมยังไม่ได้สอน คือ รากที่ 2 แต่เด็กๆสนใจ เพราะพวกเขาจะได้นำมันมาใช้ในการหาคำตอบได้สะดวกขึ้น เด็กๆ ก็เลยเข้าใจเรื่องรากที่ 2 ไปโดยปริยาย และทบทวนเลขยกกำลังกันจนมองเห็นภาพชัดเจน

ทุกครั้งที่ตั้งโจทย์เสร็จ ผมสังเกตุเห็นการใคร่ครวญกับโจทย์แตกต่างกันออกไป..
บางคนใช้วิธีเขียนโจทย์ลงในสมุดทดคด แล้วคิดๆ ก่อนจะยกมือตอบครู / อธิบายวิธีคิดให้ครูและเพื่อนๆ รับฟัง
บางคนใช้วิธีจ่องมองตัวเลขทั้ง 5 ตัว แล้วคิดในใจ เพื่อให้ได้คำตอบ - วิธีการนี้จะเป็นอีกขั้นหนึ่งที่คนเข้าใจพื้นฐานการคิดมาแล้วระดับหนึ่ง มองเห็นภาพตัวเลขความสัมพันธ์ ก่อนโยงเข้าสู่ค่าของคำตอบที่ใกล้เคียง แล้วจึงขมวดให้ได้คำตอบที่ตรงค่านั้น 
  หลายๆ กิจกรรมทุกๆ โจทย์ถึงจะเป็นคนเดิมซ้ำๆ ที่ตอบ หรือเพื่อนๆ คนอื่นได้แชร์วิธีคิด : เพื่อนๆ ทุกคนได้ฝึกการสังเกตุ การตรวจสอบคำตอบของผู้อื่น กระบวนการจัดระบบข้อมูล และการรับฟัง

เด็กๆ มีความสามารถในการคิดทางคณิตศาสตร์ ทุกครั้งที่เด็กๆ มาส่งงานผมจะให้ทุกคนอธิบายสิ่งที่ทำมา หากยังไม่เข้าใจต้องไปเรียนรู้โจทย์ที่ทำมาส่งใหม่ ฝึกการเตรียมความพร้อมก่อนมาส่งงาน เช็คตัวเองให้ดีๆ ว่าเข้าใจเรื่องนั้นมากน้อยเพียงไร จะแก้ปัญหาในความไม่รู้เรื่องนั้นอย่างไร

สิ่งที่สะท้อนเห็นได้ชัดก่อนมาส่งงาน เพื่อนที่ส่งผ่านแล้วจะค่อนแนะนำเพื่อน(Peer Assist) ที่ยังไม่เข้าใจ ช่วยเช็คงานเพื่อก่อนจะนำมาส่งครูทุกๆ ครั้ง

วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์เรื่องขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน

การเรียนวิชาภาษาไทยนักเรียนจะได้เรียนรู้โดยผ่านวรรณกรรมที่หลากหลายและในภาคเรียนที่ ๒ นี้ พี่ ม.๑ ได้เรียนรู้ผ่านวรรณกรรมเรื่องขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน ( The Alchemist) ซึ่งจะแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น ๒ ภาค เมื่อนักเรียนอ่านเรื่องขุมทรัพย์ที่ปลายฝันจบภาคที่ ๑ ครูได้ให้นักเรียนสร้างความเข้าใจ สรุปองค์
ความรู้ผ่านการคิดสร้างสรรค์ชิ้นงานในรูปแบบของการแสดงละคร โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น ๒ กลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มคิดและออกแบบการแสดงขึ้นเอง ซึ่งทั้ง ๒ กลุ่มได้นำเสนอรูปแบบการแสดงละครโดยใช้คนแสดงเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่เป็นบุคคล แกะ หรือต้นไม้ ซึ่งขณะที่นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนองานครูก็จะอัดคลิปการแสดงของแต่ละกลุ่มไว้  จากนั้นครูเปิดคลิปการแสดงของแต่ละกลุ่มให้นักเรียนดูร่วมกัน โดยให้นักเรียนวิจารณ์การแสดงของตนเองร่วมกับเพื่อนๆอีกครั้ง ทั้งสิ่งที่สามารถทำได้ดีแล้วและสิ่งใดที่ควรพัฒนาปรับปรุง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้คือ นักแสดงบางคนแสดงได้สมบทบาทดีมาก สนุกเป็นธรรมชาติ แต่บางคนยังขาดความมั่นใจในการพูด ลืมบทบ้าง อุปกรณ์ เครื่องแต่งกายไม่พร้อม สถานที่ไม่สมจริง ทำให้การแสดงไม่ค่อยราบรื่น รวมทั้งมีเสียงลมที่พัดแรงมากลบเสียงพูดของนักแสดง

เมื่อนักเรียนอ่านเรื่องขุมทรัพย์ที่ปลายฝันจบภาค ๒ ครูได้ให้นักเรียนสร้างความเข้าใจ สรุปองค์ความรู้ผ่านการคิดสร้างสรรค์ชิ้นงานในรูปแบบของการแสดงละครอีกครั้ง โดยให้นักเรียนร่วมกันคิดว่าจะ จากปัญหาที่พบในการแสดงละครภาคแรกนั้น แล้วภาคที่ ๒ นี้นักเรียนจะนำเสนออย่างไร

จากนั้นให้นักเรียนระดมความคิด และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการแสดงเรื่องขุมทรัพย์ที่ปลายฝันร่วมกัน ซึ่งได้ผลสรุปดังนี้คือ นักเรียนทั้ง ๑๙ คนจะร่วมกันสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ โดยจะใช้การตัดต่อภาพเพื่อความสมจริงของตัวละครและสถานที่ในเรื่อง จัดห้องถ่ายทำโดยเฉพาะเพื่อป้องกันเสียงสอดแทรกเข้ามาของลมและเสียงต่างๆที่อาจรบกวนการแสดงได้ และจะไม่แสดงแค่ภาคที่ ๒ เท่านั้นแต่จะนำเสนอเรื่องขุมทรัพย์ที่ปลายฝันใหม่ทั้ง ๒ ภาค เพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ

เมื่อนักเรียนนำเสนอวิธีการทำงานกับครูเรียบร้อยแล้ว ก็ดำเนินงานโดยเริ่มจากการแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานของแต่ละคน ตั้งแต่คัดเลือกนักแสดง ผู้กำกับ คนเขียนบท ฝ่ายจัดหาอุปกรณ์ประกอบฉากและเครื่องแต่งกาย ฝ่ายออกแบบและตัดต่อคอมพิวเตอร์ คนแต่งเพลง อัดเสียง ฯลฯ จากนั้นลงมือถ่ายทำการแสดง

แต่ในระหว่างการทำงานกลุ่มใหญ่ก็จะพบปัญหาความไม่เข้าใจกัน ทะเลาะกันบ้าง ทำให้การทำงานหยุดชะงักหลายครั้ง แต่ทุกครั้งจะใช้วิธีมานั่งพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุ และหาแนวทางแก้ไข สร้างข้อตกลงการทำงานร่วมกัน ในแรกเริ่มของการหากเกิดปัญหาการทำงานทุกครั้ง นักเรียนจะแจ้งให้ครูทราบรวมทั้งช่วยให้คำแนะนำและแก้ปัญหา แต่ระยะหลังเมื่อเกิดปัญหาการทำงานนักเรียนจะพูดคุยกันเองมากขึ้น รู้จักจัดการปัญหาด้วย
ตนเองได้มากขึ้น ครูเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ รับรู้ความเป็นไป และให้อิสระในการทำงานของนักเรียน

   จากการสร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่องขุมทรัพย์ที่ปลายฝันในครั้งนี้ นอกจากนักเรียนจะได้เห็นคุณค่าของวรรณกรรม ได้ฝึกทักษะทางภาษา ฟัง พูด อ่าน เขียนแล้ว นักเรียนยังได้ทักษะการเรียนรู้ รู้จักการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ผ่านการลงมือทำ แลกเปลี่ยน และ ตรวจสอบ เพื่อนำมาปรับใช้ได้ รวมทั้งยังเกิดทักษะการคิดสร้างสรรค์ การจัดการ การทำงานเป็นทีม การคิดแก้ปัญหาและทักษะ ICT ด้วยค่ัะ